พระพิรุณทรงนาคเป็นเครื่องหมายทางราชการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นเทพแห่งฝนที่ทรงนำความสมบูรณ์มาให้แก่พืชพรรณธัญญาหาร ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ( รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ) จึงดำริให้ทุกวิทยาเขตมีพระพิรุณทรงนาคประดิษฐานไว้เพื่อเป็นเอกลักษณ์ เชิดชูมหาวิทยาลัย และเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจของบุคลากรและนิสิตและได้จัดสร้างองค์พระพิรุณทรงนาคขนาดเท่ากับคนจริง ( ประมาณ ๑.๕๐ เมตร ) ซึ่งมีมูลค่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท มอบให้วิทยาเขตศรีราชา
             พระพิรุณทรงนาค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ประดิษฐานอยู่บนแท่นสัมฤทธิ์กลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร มีน้ำพุที่ละเอียดอ่อนดั่งฟองคลื่นพวยพุ่งขึ้นจากพื้นน้ำล้อมรอบฐาน ทำให้มองเห็นองค์พระพิรุณโดดเด่นเสมือนประทับยืนบนพญานาคที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเล ลานพระพิรุณปูด้วยอิฐบล็อกรูปแปดเหลี่ยม อิฐศิลาแทรกด้วยอิฐบล็อกรูปคธาและจัตุรัส รอบ ๆ ลาน พระพิรุณขนาด ๓๐ x ๔๐ ตารางเมตร ประดับด้วยโคมไฟ ๑๒ จุด ไฟสปอตไลท์ ๔ จุด และไฟใต้น้ำอีก ๒๐ จุด เมื่อเปิดไฟทั้งหมดในยามราตรี แสงไฟที่สาดส่องกระทบอง ๕ พระพิรุณทรงนาค จะสะท้อนออกจากองค์พระพิรุณ ทำให้เห็นอง ๕ ท่านส่องแสงเป็นประการสีทองงามระยับ  
 
 
             จากบริเวณถนนหน้าตึกผู้บริหารวิทยาเขต ได้จัดสร้างบันไดต่างระดับทอดลงสู่ลานพระพิรุณ มีเสาธงข้าวเปลือก ขนาดความสูง ๒๕ เมตร ตั้งโดเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณทางเข้า
 
             องค์พระพิรุณ เป็นเทพเจ้าแห่งฝนผู้บันดาลความชุ่มฉ่ำสู่พื้นโลก มักเป็นเทพเพศชายที่งดงามมาก มีผิวกายสีต่างกันไปตามคติ แต่เทวรูปที่ปรากฏมักมีกายสีขาวเพราะเป็นเทพที่เกี่ยวกับน้ำ ทรงขัตติยาภรณ์ทำด้วยทองคำ มี ๒ กร กรขวาทรงพระขรรค์ชัย กรซ้ายปางประทานอภัย ประทับยืนอยู่เหนือนาคราชในท่าลีลาและการเอี้ยวองค์เล็กน้อย  
 
             พระพิรุณ ตามคำบอกเล่าของ พล.ต.ศรีพันธ์ วิชชพันธ์ ศิษย์เก่าอาวุโสของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอดีตเจ้ากรมการสัตว์ทหารบก ได้รับมอบหมายจากพระเดชพระคุณพระราชพรหมยานเถระ ( หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ) ให้ติดต่อทางโลกทิพย์ ซึ่ง พล.ต.ศรีพันธ์ วิชชพันธ์ ได้กรุณานั่งสมาธิถามทางเทวโลก และรับทราบข้อมูลว่าพระพิรุณเทพเป็นเทวดาอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นท่านอินทกะ หมายเลข ๗ และเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มที่แล้วและเป็นเทพปกปักรักษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
             โครงการก่อสร้างพระพิรุณทรงนาค ใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ รวมเวลาในการก่อสร้าง ๕ เดือน โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด บิกฆ้อน เป็นผู้รับเหมา
 
             เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลา ๐๙.๑๙ น. ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปี มะแม ได้จัดพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระพิรุณทรงนาคประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยได้รับเกียรติจากท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ) ในการนี้พราหมณ์ภพสาม สยมภพ จากเทวะสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สำนักพระราชวัง เป็นผู้ประกอบพิธี
 
 
             เสาธงเมล็ดข้าวเปลือกเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้าวเปลือกเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย เพราะความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาตินั้น ล้วนมาจากพื้นแผ่นดินทั้งสิ้น เกษตรศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ของแผ่นดิน ที่จะนำความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินมาสร้างความมั่งคั่งให้ชาติไทยต่อไป
 
 
เสาธงเมล็ดข้าวเปลือกเป็นเสาธงเหล็กสเตนเลส ๑๒ ซี่ สูง ๒๔ เมตร
ลวดสลิงสำหรับชักธง ขนาด ๓/๑๖” ๕๐ เมตร
ธงชาติ ขนาด ๒.๕ x ๓.๕ เมตร
 
             เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลา ๐๙.๑๙ น. ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปี มะแม ได้จัดพิธีบวงสรวง ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยได้รับเกียรติจากท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ )